ด้วยพลังแห่งแรงศรัทธาส่งให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องในประเทศพม่า ใบบุญแห่งประพุทธศาสนายังเป็นเครื่องนำพาชีวิตและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวพุทธในทุกยุคทุกสมัยตลอดมา อย่างเช่นแรงศรัทธาที่พากันหลั่งไหลมายังวัดพระมหามัยมุนี วัดสำคัญที่อยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ที่หนุนส่งให้ศาสนสถานแห่งนี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ทีมงานทัวร์พม่าจะขอรีวิวให้ทุกท่านได้อ่านกัน
พระมหามัยมุนี (Mahamuni Buddha Image) หรือพระมหาเมียะมุนี ซึ่งแปลว่า “ผู้รู้อันประเสริฐ” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศพม่า และเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของพม่า ซึ่งได้แก่ พระธาตุอินทร์แขวน เจดีย์ชเวดากอง เจดีย์ชเวมอดอร์ เจดีย์ชเวสิกอง และพระมหามัยมุนี จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 นี้ มีเพียงพระมหามัยมุนีที่เป็นพระพุทธรูปที่ทรงเครื่องกษัตริย์ปางมารวิชัยแบบมรัคอู สร้างจากทองสัมฤทธิ์ หนัก 6.5 ตัน บนฐานสูง 1.84 เมตร รวมความสูงจากฐานและองค์พระ 3.82 เมตร ไหล่กว้าง 1.84 เมตร หน้าตักกว้าง 2.5 เมตร อยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ จุดไฮไลท์ที่สำคัญของวัดนี้ที่ทัวร์พม่าต้องพาไปชมคือ พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี โดยเจ้าอาวาสในการทำพิธีช่วงเช้าเวลา 04.00 น.ของทุกวันโดยมีประวัติความเป็นมาของพระมหามัยมุนีอย่างไรนั้น ลองอ่านกันดู
cr. medium.com
ประวัติความเป็นมาของพระมหามัยมุนี
มีตำนานที่เล่าต่อกันมาว่า พระมหามัยมุนีสร้างขึ้นเมื่อสมัยพุทธกาลโดยกษัตริย์แห่งเมืองยะไข่ ก่อนที่จะสร้างกษัตริย์ได้ฝันว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทานพรให้พระพุทธรูปองค์นี้เป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์สืบทอดพระศาสนาในภายหน้า โดยได้มอบลมหายใจไว้กับพระพุทธรูปองค์นี้เพื่อให้ดูเหมือนพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อกษัตริย์ยะไข่ถูกโจมตีจากกษัตริย์อื่นและพยายามจะเคลื่อนย้ายพระมหามัยมุนีออกจากเมืองยะไข่ แต่ก็ไม่สามารถนำออกไปได้จะมีอุปสรรคและล้มเหลวทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย จนกระทั่ง พระเจ้าปดุงที่มีเมืองหลวงอยู่ที่มัณฑะเลย์ยกทัพไปตีเมืองยะไข่ได้ชัยชนะ จึงได้ทำพิธีอัญเชิญพระมหามัยมุนีด้วยการนำขึ้นแพรล่องไปตามแม่น้ำอิระวดีถึงเมืองมัณฑะเลย์ และได้นำมาประดิษฐานที่เมืองนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2327 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้
cr. depositphotos.com
พระเนื้อนิ่ม เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ชาวพม่าเรียกพระมหามัยมุนี ที่เรียกพระเนื้อนิ่มเพราะว่ามีผู้ศรัทธาเป็นจำนวนมากมาสักการะบูชาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้นำแผ่นทองมาปิดที่องค์พระยกเว้นบริเวณส่วนพระพักตร์ ทำให้ทองคำเปลวซ้อนทับกันหนาขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทั่วพระวรกาย เราจึงเห็นองค์พระเป็นนูนๆตะปุ่มตะป่ำถึงแม้จะลอกทองคำเปลวของเก่าออกไปบ้างแล้วหลายครั้ง แต่ทองคำเปลวก็ยังหนาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลองเอานิ้วกดดูก็จะรับรู้ได้ว่าองค์พระมีความอ่อนนิ่มจากทองคำเปลว จึงเรียกพระมหามัยมุนีว่า พระพุทธรูปเนื้อนิ่ม หรือ พระเนื้อนิ่ม
cr. blog.bangkokair.com
พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี โดยเจ้าอาวาส
เริ่มทำพิธีตั้งแต่เช้าตรู่เวลาประมาณ 04.00 น.ของทุกวัน เมื่อเจ้าอาวาสมาถึงก็จะนำผ้ามาคลุมกันเปื้อนให้กับองค์พระ เนื่องจากน้ำอาจทำให้ส่วนอื่นเสียหาย จากนั้น นำอาหาร ข้าวหอม ดอกไม้ น้ำอบ ทานาคา และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ขึ้นสักการะ ระหว่างนี้มีการสวดมนต์ขอพรกันตลอดเวลา เสร็จแล้วก็เริ่มล้างพระพักตร์ด้วยขันทอง 3 ครั้ง ขันเงิน 3 ครั้ง ขันธรรมดา 3 ครั้ง ในน้ำล้างพระพักตร์มีส่วนผสมของน้ำไม้จันทร์และทานาคา ก่อนถึงขั้นตอนเช็ดพระพักตร์ไกด์ทัวร์พม่าได้แนะนำให้คณะทัวร์พม่านำผ้าเช็ดหน้าที่เตรียมไว้นำไปให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เจ้าอาวาสนำไปเช็ดพระพักตร์แล้วนำมาเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เจ้าอาวาสทำการเช็ดพระพักตร์โดยใช้ผ้าเช็ดหน้าของผู้ที่มาเข้าร่วมพิธีเสร็จแล้ว เอาพัดทองมาพัดให้แห้งแล้วเอารักมาทาองค์พระเพื่อปิดทองเป็นอันเสร็จพิธี ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
cr. videoblocks.com
เมื่อเจ้าอาวาสลงมาเรียบร้อยแล้วชาวพม่าและนักท่องเที่ยวทัวร์พม่าที่เป็นผู้ชายขึ้นไปปิดทองได้ ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปแต่ฝากผู้ชายเข้าไปปิดทองได้อานิสงค์เหมือนกัน ไกด์ทัวร์พม่าบอกว่า เจ้าอาวาสที่ทำพิธีชื่อว่า อุโอตะมะ ท่านเป็นที่เคารพรักของชาวมัณฑะเลย์และเป็นผู้ที่สืบทอดพิธีคนที่ 4 ที่ได้ทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้ เป็นที่น่าแปลกใจว่าพระมหามัยมุนีได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งพุทธกาล แต่พิธีล้างพระพักตร์นั้นได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1988 เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วโดยหลวงพ่อ Buddhanta Panya Vamsa และ Pitaka Kyaung อดีตเจ้าอาวาสและพระผู้ใหญ่เป็นผู้ริเริ่มพิธีนี้ขึ้น
ด้านหลังของวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงรูปหล่อสำริด ทั้งพระอิศวร 2 องค์ สิงห์ 3 ตัว และช้างเอราวัณ 1 ตัว ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับหลายชาติ เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้ยกทัพไปตีนครธม ทรงนำรูปหล่อสำริดนี้กลับมายังกรุงศรีอยุธยา แต่อีก146 ปีต่อมา พระเจ้าบุเรงนองตีอยุธยาพินาศ ก็นำไปยังเมืองหงสาวดี ผ่านไปอีก 30 ปี พระเจ้ายะไข่ตีเมืองหงสาวดีจึงได้ย้ายรูปปั้นทั้งหมดไปยังยะไข่อยู่นานถึง 180 ปี ถึงคราวที่พระเจ้าปดุงแห่งประเทศพม่าตียะไข่จนย่อยยับแล้วนำมาเก็บไว้ที่มัณฑะเลย์พร้อมกับพระมหามัยมุนี
สรุป
สำหรับท่านใดที่มาร่วมพิธีที่วัดแห่งนี้ ยังได้มีโอกาสเดินช้อปปิ้งร้านค้าภายในวัด คณะทัวร์พม่าท่านใดต้องการซื้อของที่ระลึกหรือเครื่องรางของขลังก็สามารถหาซื้อได้ภายในวัดนี้เช่นกัน หรือหากสนใจมาร่วมพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ Lovely Smile Tour ได้เลย หรือท่านใดที่เดินทางมาด้วยตนเอง สามารถมาตามแผนที่ด้านล่างนี้
รีวิวโดย วรรณี